PSP รอ ก.ล.ต.ไฟเขียวก่อนเคาะฤกษ์ขาย IPO ชูกลยุทธ์ 3 แกนหลักตอกย้ำผู้นำผลิตภัณฑ์หล่อลื่นครบวงจร | P.S.P. Specialties

PSP รอ ก.ล.ต.ไฟเขียวก่อนเคาะฤกษ์ขาย IPO ชูกลยุทธ์ 3 แกนหลักตอกย้ำผู้นำผลิตภัณฑ์หล่อลื่นครบวงจร

นายสินธุ์ ครองพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พี.เอส.พี. สเปเชียลตี้ส์ (PSP) เปิดเผยว่า บริษัทวางกลยุทธ์การเติบโต โดยมุ่งเน้นใน 3 เรื่องหลัก คือ

1. ตอกย้ำความเป็นผู้นำ ผ่านการมุ่งเน้นและเพิ่มสัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรและการเติบโตสูง โดยวางเป้าหมายรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ น้ำมันหล่อลื่นสำหรับอุตสาหกรรม, จาระบี, น้ำมันผสมยาง และน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า จาก 20% ในปี 65 เพิ่มเป็น 30% ในปี 69

  • การเติบโตในตลาดต่างประเทศ จากปัจจุบันที่มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นของประเทศในภูมิภาคอาเซียนอยู่ 3,000 ล้านลิตร และมองแนวโน้มตลาดอุตสาหกรรมผลิตภุณฑ์หล่อลื่นภาพรวมทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียน ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นของประเทศกลุ่มเป้าหมายในภูมิภาคอาเซียนจะเพิ่มเป็น 4,000 ล้านลิตรภายในปี 69 ซึ่งบริษัทฯ มีเป้าหมายขยายสัดส่วนยอดขายต่างประเทศเพิ่มเป็น 25% ของรายได้รวม ภายในปี 69 จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 16.5%
  • การพัฒนาระบบ Automation หรือการพัฒนาและปรับปรุง Facilities ต่างๆ เพื่อลดต้นทุนและรองรับการเติบโตในอนาคต ได้แก่ โครงการพัฒนาโรงงานผลิตน้ำมันหล่อลื่น ใช้งบลงทุนประมาณ 140 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4/67 และโครงการพัฒนาไลน์บรรจุแพ็กเกจจิงขนาดเล็ก งบลงทุนประมาณ 20 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จไตรมาส 4/66

2. เพิ่มความหลากหลายของกลุ่มผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หล่อลื่นสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร, น้ำมันอเนกประสงค์, ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และผลิตภัณฑ์รักษ์โลก เพื่อตอบสนองเทรนด์ของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น น้ำยาหล่อเย็นแบตเตอรี่ น้ำมันเกียร์และจาระบีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และน้ำมันหม้อแปลงชีวภาพ (Bio Transformer Oil) สำหรับหม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความหลากหลายของพอร์ตโฟลิโอ จากปัจจุบันที่มีมากกว่า 1,000 สูตร รวมถึงจะมุ่งขยายตลาดไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนที่มีศักยภาพเติบโตสูง

3. ขยายธุรกิจผ่านการลงทุน ผ่านการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม, ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Logistics, ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Sustainable Solution และลงทุนในธุรกิจที่มีการเติบโตสูง (New S Curve)

อนึ่ง PSP ดำเนินธุรกิจพัฒนาและผลิตสินค้า โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ น้ำมันหล่อลื่นยานยนต์และอุตสาหกรรม, จาระบี, น้ำมันผสมยาง และน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า รวมไปถึงธุรกิจบริการ ประกอบด้วย การเป็นตัวแทนจำหน่ายและซื้อมาขายไปวัตถุดิบและสินค้า, ธุรกิจให้บริการที่เกี่ยวข้องด้านโลจิสติกส์ รวมถึงธุรกิจให้บริการด้านแพลตฟอร์ม E-commerce ซื้อขายอะไหล่รถยนต์ แบตเตอรี่และน้ำมันหล่อลื่นสำหรับผู้ประกอบการ (B2B) ภายใต้ชื่อ EGG Mall ตามแผนขยายธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม (New S-curve)

จุดเด่นของบริษัทฯ คือ 1. เป็นผู้นำในการเป็นผู้ผลิตอิสระ (Independent Manufacturer) ที่ได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าชั้นนำในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยมีกำลังการผลิตและส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงที่สุดในประเทศ ทั้งในผลิตถัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น, น้ำมันผสมยาง และน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า 2. ให้บริการพัฒนาและผลิตสินค้าแบบครบวงจร ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย 3. มีการกระจายความเสี่ยงของรายได้จากกลุ่มลูกค้า ผลิตภัณฑ์และภูมิภาคที่หลากหลาย 4.การวิจัยและพัฒนาที่แข็งแกร่ง ช่วยต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง 5. กรรมการและผู้บริหารมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในอุตสาหกรรม

นายปิยะ เตชะพิเชฐวนิช ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บัญชีและบริหารความเสี่ยง PSP กล่าวว่า ผลการดำเนินงาน 3 ปีที่ผ่านมา (63-65) มีรายได้รวม (รวมข้อมูลทางการเงินของ U.C. Marketing) 7,566.7 ล้านบาท 10,783.7 ล้านบาท และ 13,204.4 ล้านบาท ตามลำดับ เติบโตเฉลี่ยปีละ 32.1% ซึ่งมาจากศักยภาพกำลังการผลิตรวมสำหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น (Lubricant) น้ำมันผสมยาง (Rubber Process Oil) และน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า (Transformer Oil) ที่มากที่สุดในประเทศไทยและการให้บริการแบบครบวงจร ทำให้ PSP สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างมีคุณภาพและครบถ้วน ตอบสนองต่อความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนในทุกมิติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 387.3 ล้านบาท 547.6 ล้านบาท และ 546.4 ล้านบาท ตามลำดับ

นางสาววีรยา ศรีวัฒนะ หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะแกนนำการจัดจำหน่ายหุ้น IPO ของ PSP กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 350 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและรออนุมัติแบบไฟลิ่งจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยหากได้รับการอนุมัติแล้วจะดำเนินการกำหนดราคาเสนอขายและวันจองซื้อหุ้น IPO ต่อไป

โดยบริษัทฯ มีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ไปลงทุนในโรงงานเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการนำระบบควบคุมอัตโนมัติ (Automation) มาใช้ และยังนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มิ.ย. 66) : www.infoquest.co.th/2023/310821