Social
ในโลกธุรกิจปัจจุบัน ความยั่งยืนด้านสังคมมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างองค์กร พนักงาน ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) และมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า
บริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติด้านสังคม เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นธรรม ปลอดภัย และเท่าเทียม ครอบคลุมคู่ค้า ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาชุมชนและสังคมโดยรอบให้เติบโตไปพร้อมกับองค์กร
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านสังคม ครอบคลุมถึงนโยบายด้านแรงงาน สิทธิมนุษยชน ความหลากหลายและการมีส่วนร่วม ตลอดจนการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการสร้างผลกระทบเชิงบวกและมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็ง สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนขององค์กรและมาตรฐานสากล
การพัฒนาศักยภาพบุคลากร
บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของพนักงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร และรองรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจในอนาคต การพัฒนาทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการทำงานของพนักงานเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมความยั่งยืนขององค์กรและสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม
ผลการดำเนินงาน
ในปี 2567 บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาทักษะ ความรู้ และความสามารถของพนักงานทุกระดับผ่านการประเมิน Competency Gap เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาเฉพาะบุคคล (Individual Development Plan: IDP) และแผนสืบทอดตำแหน่ง (Succession Plan) เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทฯ มีบุคลากรที่มีคุณภาพ สามารถตอบสนองต่อความท้าทายทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีรายละเอียดผลการดำเนินงานโดยสังเขปดังนี้
หัวข้อประเด็นสำคัญ | ผลการดำเนินงานในปี 2567 | เป้าหมายระยะยาวภายในปี 2572 | |
---|---|---|---|
1. | สัดส่วนความครอบคลุมของจำนวนพนักงานที่ได้รับการอบรมและพัฒนาทักษะ | มากกว่าร้อยละ 77.37 | ร้อยละ 100 |
2. | สัดส่วนความครอบคลุมของจำนวนพนักงานที่ได้รับการจัดทำ IDP | ร้อยละ 33.17 | ร้อยละ 100 |
3. | สัดส่วนความครอบคลุมของจำนวนพนักงานที่ได้เข้าโครงการ Succession Plan ในตำแหน่งที่ถูกกำหนด (ระดับ C-Level และ Division Manager) | ร้อยละ 96 | ร้อยละ 100 |
4. | จำนวนชั่วโมงอบรมของพนักงานเฉลี่ย (ชั่วโมงต่อคนต่อปี) | 27.38 ชม. | 26 ชม. |
5. | ค่าใช้จ่ายในการอบรมของพนักงานเฉลี่ย (บาทต่อคนต่อปี) | 6,904.54 บาท | ไม่น้อยกว่า 7,000 บาท |
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและปรับปรุงกลยุทธ์การบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรในระยะยาว
การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์
บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับพนักงานในฐานะ "รากฐานแห่งความสำเร็จ" ที่นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร โดยดำเนินนโยบายการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่โปร่งใส เป็นธรรม และเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติ ศาสนา เพศ อายุ หรือความบกพร่องทางกายภาพ ทั้งนี้ บริษัทฯ ใช้กระบวนการสรรหา คัดเลือก และจ้างงานที่คำนึงถึงคุณสมบัติ ทักษะ และศักยภาพในการพัฒนา เพื่อให้บุคลากรสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ตลอดจนการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น โดยมีแนวทางการดำเนินงานดังต่อไปนี้
การสรรหาและคัดเลือกบุคลากร
บริษัทฯ ใช้กระบวนการสรรหาและคัดเลือกที่มีความเป็นธรรม โปร่งใส ปราศจากอคติ และไม่เลือกปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญกับความสามารถของผู้สมัครเป็นหลัก ทั้งในด้านทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ และคุณสมบัติที่สอดคล้องกับตำแหน่งงาน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการจ้างงานในท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจ
- การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการจ้างงานคนพิการ - บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยให้มีการปฏิบัติต่อพนักงานและผู้สมัครงานอย่างเท่าเทียม เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่เลือกปฏิบัติในด้านเพศ อายุ เชื้อชาติ ศาสนา หรือสภาพร่างกาย ในด้านการจ้างงานคนพิการ บริษัทฯ มุ่งส่งเสริมโอกาสในการทำงานให้กับบุคคลทุกกลุ่ม โดยเปิดโอกาสให้คนพิการสามารถเข้าถึงตำแหน่งงานที่เหมาะสม และสนับสนุนให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เอื้อต่อการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังพิจารณาทางเลือกในการสนับสนุนคนพิการผ่านช่องทางอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การจัดจ้างงานทางอ้อมหรือการสนับสนุนโครงการพัฒนาศักยภาพคนพิการ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนมีโอกาสในการทำงานและเติบโตในอาชีพอย่างเท่าเทียม
ในปี 2567 พบว่ามีการสรรหาและคัดเลือกบุคลากร (พนักงานใหม่) เป็นจำนวน 85 คน ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ที่ทางโรงงานตั้งอยู่ทั้ง 3 แห่ง ครอบคลุมจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดกรุงเทพฯหรือนนทบุรี และจังหวัดสมุทรสงครามหรือนครปฐม โดยมีรายละเอียดตามแผนภูมิดังนี้
พนักงานที่มีภูมิลำเนาที่รับเข้ามาทำงาน
48% หรือ 41 คน
จากภาพรวมทั้งหมด 85 คน ประจำปี 2567
หมายเหตุ:
- พื้นที่ 1: จังหวัดสมุทรสาคร
- พื้นที่ 2: จังหวัดกรุงเทพฯหรือนนทบุรี
- พื้นที่ 3: จังหวัดสมุทรสงครามหรือนครปฐม
นอกจากนี้ ในปี 2567 บริษัทฯ ได้ดำเนินการจ้างงานคนพิการอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมโอกาสในการทำงานที่เท่าเทียมและยั่งยืน โดยมีรายละเอียดดังนี้
รายละเอียดการว่าจ้างงานคนพิการ | ผลลัพธ์ |
---|---|
จำนวนพนักงานที่เป็นคนพิการที่บริษัทฯ ได้พิจารณาว่าจ้าง | 6 คน ซึ่งเป็นไปตามอัตราส่วนระหว่างคนปกติกับคนพิการที่ 1 ต่อ 100 คน ตามที่กฎหมายกำหนด |
การจัดอบรมหรือพัฒนาทักษะให้กับพนักงานที่เป็นคนพิการ | เป็นไปตามแผนการพัฒนาทักษะและจัดอบรมขององค์กร |
ค่าตอบแทนและสวัสดิการ
บริษัทฯ กำหนดค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม เป็นธรรม และสอดคล้องกับมาตรฐานของอุตสาหกรรมผ่านการสำรวจค่าตอบแทนและสวัสดิการในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยคำนึงถึงความสามารถและประสิทธิภาพของพนักงาน นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพนักงาน เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ทุนการศึกษาของพนักงานและบุตร ค่าเครื่องแบบ เงินช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน วันหยุดพักผ่อนประจำปี และสิทธิ์ลาพักร้อน เพื่อให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปี 2567 บริษัทฯ ได้จัดสรรงบการดูแลพนักงานเฉลี่ยเป็นจำนวน 19,474 บาท/คน/ปี (ไม่รวมเงินเดือนพนักงาน)
การประเมินผลการปฏิบัติงาน
บริษัทฯ กำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารและพนักงานทุกคนเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานและการเติบโตของบุคลากรภายในองค์กร การประเมินนี้ดำเนินการตามหลักวิชาการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Resource Management) โดยอ้างอิงหลัก Key Performance Indicators (KPIs) ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
-
พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทำงาน
ใช้ข้อมูลจากการประเมินเพื่อระบุจุดแข็งและจุดที่ต้องปรับปรุงในกระบวนการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น
-
เพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร
ใช้ผลการประเมินเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาและฝึกอบรมพนักงานในด้านที่จำเป็น
-
ส่งเสริมความก้าวหน้าในอาชีพ
สนับสนุนการเติบโตทางสายอาชีพ (Career Development) ของพนักงานโดยอิงจากผลการปฏิบัติงาน
-
สร้างแรงจูงใจและความผูกพันในองค์กร
ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเองและมีความผูกพันกับองค์กรผ่านระบบประเมินที่โปร่งใสและเป็นธรรม
ในปี 2567 บริษัทฯ ได้ประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานตั้งแต่ระดับ Senior Officer, Supervisor จนถึง Section Manager คิดเป็น ร้อยละ 30 ของจำนวนผู้บริหารและพนักงานทั้งหมด ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายให้การประเมินผลการปฏิบัติงานให้ครอบคลุมผู้บริหารและพนักงานทุกคนร้อยละ 100 ภายในปี 2570
ความเสมอภาคและความหลากหลาย
บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งเสริมความเท่าเทียมและความหลากหลาย โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา หรือความแตกต่างอื่น ๆ ทุกคนมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานที่สำคัญ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการจัดทำ “นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม” ที่ครอบคลุมหลักปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ชุมชนและสังคมรอบข้าง ตลอดจนมีการจัดกิจกรรมและโครงการที่ช่วยส่งเสริมความเข้าใจ และการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรจากหลากหลายพื้นที่
หมายเหตุ:
ผู้สนใจ สามารถดูหลักปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนต่อพนักงาน เพิ่มเติมได้ใน “นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม”
ปี 2567 บริษัทฯ ได้ประกาศแนวปฏิบัติด้านแรงงานตามมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.) ระดับพื้นฐาน เป็นจำนวน 5 ฉบับ ดังนี้
- ฉบับที่ 1 เรื่องนโยบายความรับผิดชอบทางสังคมด้านแรงงาน
- ฉบับที่ 2 เรื่องมาตรการป้องกัน และยุติการใช้ความรุนแรงในสถานประกอบกิจการ
- ฉบับที่ 3 เรื่องมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาลูกจ้างถูกคุกคาม ล่วงเกิน หรือได้รับความเดือดร้อน รำคาญทางเพศในการทำงาน
- ฉบับที่ 4 เรื่องสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง ตามมาตรา 17 พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและ สภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554
- ฉบับที่ 5 เรื่องสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง ตามมาตรา 17 พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและ สภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554
ทั้งนี้ ในปี 2567 พบว่า จำนวนข้อร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมที่มีนัยสำคัญเป็นศูนย์
การรักษาสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน
บริษัทฯ สนับสนุนให้พนักงานมีสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว โดยมีนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น เช่น การทำงานแบบ Hybrid Working หรือ Work From Home ตามความเหมาะสม รวมถึงการจัดกิจกรรมสันทนาการ การพัฒนาทักษะ และโครงการเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน เช่น กิจกรรมสันทนาการ กิจกรรมเพื่อสังคม และการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขในชีวิตการทำงาน
ปี 2567 บริษัทฯได้มีแนวคิดสร้างความสุขในสถานที่ทำงานให้แก่พนักงานผ่านการจัดกิจกรรมตามหลัก Happy Workplace 8 ประการ โดยมีรายละเอียดสรุปได้พอสังเขป ดังนี้
Happy Money (ปลอดหนี้) | มีเงิน รู้จักเก็บรู้จักใช้ ไม่เป็นหนี้ ปลูกฝังนิสัยอดออม ประหยัด รู้จักวิธีใช้เงิน ไม่ใช้สุรุ่ยสุร่าย ใช้จ่ายแต่เท่าที่จำเป็น ยึดหลักคำสอนการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการจัดการอบรมให้ความรู้พนักงานเพื่อให้พนักงานปลอดหนี้ ส่งเสริมให้พนักงานเพิ่มอัตราการสะสมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ใช้ยามเกษียณโดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 81 คน และมีการจัดทำแบบสำรวจหลังเสร็จสิ้นการอบรม ซึ่งผลระดับความพึงพอใจในกิจกรรมนี้มีมากถึงร้อยละ 86 ซึ่งเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ในระดับที่ร้อยละ 85 |
Happy Heart (น้ำใจงาม) | มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อกันและกัน เนื่องจากบริษัทฯ มีความเชื่อว่าความสุขที่แท้จริงคือการเป็นผู้ให้ |
Happy Body | ส่งเสริมการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัย และมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ซึ่งจะช่วยให้พนักงานมีพลังงานในการทำงาน ลดความเครียด และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้น |
Happy Family (ครอบครัวดี) |
มีครอบครัวที่อบอุ่นและมั่นคง ปลูกฝังนิสัยรักครอบครัว เพื่อนำไปเป็นหลักการใช้ชีวิตให้รู้จักความรัก ความเชื่อมั่น และความศรัทธาในความดีงาม จึงจะเกิดเป็นคนดี ในสังคม (รักตนเอง รักครอบครัว รักการงาน รักเพื่อน รักในสิ่งที่พอเพียง)
|
Happy Brain (หาความรู้) | มีการศึกษาหาความรู้พัฒนาตนเองตลอดเวลาจากแหล่งต่างๆ นำไปสู่การเป็นมืออาชีพและความมั่นคงก้าวหน้าในการทำงานเพราะเชื่อว่า ถ้าเราทุกคนแสวงหาความรู้ใหม่ๆ มาเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาตนเองอยู่สม่ำเสมอ ก็จะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดัน ช่วยให้องค์กรพัฒนาขึ้นด้วยบุคลากรที่มีศักยภาพ |
Happy Relax (ผ่อนคลาย) | รู้จักผ่อนคลายต่อสิ่งต่างๆ ในการดำเนินชีวิต เพราะเชื่อว่าการที่คนทำงาน หากไม่รู้จักสรรหาการผ่อนคลายให้กับตนเอง จะทำให้ร่างกายและจิตใจเกิดความเครียด อันส่งผลกระทบต่อหน้าที่การทำงาน |
Happy Society (สังคมดี) | มีความรักสามัคคีเอื้อเฟื้อต่อชุมชนที่ตนทำงาน และพักอาศัย มีสังคมและสภาพแวดล้อมที่ดีเพราะเชื่อว่าการที่ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีภายในสังคมหรือชุมชน ย่อมเป็นพื้นฐานที่ดี ทำให้ผู้อยู่อาศัย มีความรัก ความปรองดอง สามัคคีต่อกันพร้อมร่วมแรงร่วมใจช่วยกันพัฒนาชุมชนให้มีชีวิตการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น |
Happy Soul (ทางสงบ) | มีความศรัทธาในศาสนาและมีศีลธรรมในการดำเนินชีวิต เพราะเชื่อว่าหลักธรรมคำสอนของศาสนาเป็นสิ่งที่จะช่วยการดำเนินชีวิตของทุกคนให้ดำเนินไปในเส้นทางที่ดีได้ ทำให้ทุกคนมีสติมีสมาธิในการทำงาน สามารถรับมือกับปัญหาที่เข้ามาได้ ยึดหลักสนับสนุนให้เป็นคนดี คิดดี ทำดีและมีความศรัทธาในคุณงามความดีทั้งปวง |
นอกจากกิจกรรมที่กล่าวข้างต้น บริษัทฯ ได้จัดทำแบบสำรวจความพึงพอใจของพนักงานประจำปี 2567 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นต่อองค์กรในด้านต่างๆ ผลการสำรวจจะถูกนำไปวิเคราะห์เพื่อพัฒนาแนวทางการรักษาพนักงาน ลดอัตราการลาออก ลดค่าใช้จ่ายในการสรรหาบุคลากรใหม่ และรักษาประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน
มากไปกว่านั้น ทางบริษัทฯ ยังมีการทบทวนและปรับปรุงแผนดำเนินงานในปี 2567 เพื่อให้พนักงานได้รับผลประโยชน์ที่เป็นธรรม และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กรในระยะยาว โดยมีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้
ปรับปรุงระบบการจ่ายค่าตอบแทน
- ทบทวนและปรับปรุงโครงสร้างค่าตอบแทนให้มีความเป็นธรรมและสอดคล้องกับแนวโน้มตลาดแรงงาน
- กำหนดโครงสร้างเงินเดือนและสวัสดิการที่สามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ปรับปรุงระบบสวัสดิการให้เหมาะสมกับตลาดแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน
- เปรียบเทียบและวิเคราะห์สวัสดิการของบริษัทกับมาตรฐานของอุตสาหกรรม
- เพิ่มสิทธิประโยชน์และสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับพนักงาน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และสวัสดิการเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง
ปรับปรุงเรื่องวันทำงาน
- ปรับปรุงระบบการจัดตารางวันทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance)
- ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการวันหยุดและเวลาทำงานที่เหมาะสม
เพิ่มประกันสุขภาพให้กับพนักงานระดับ Supervisor ลงมา
- ขยายความคุ้มครองของประกันสุขภาพให้ครอบคลุมพนักงานระดับ Supervisor และตำแหน่งที่ต่ำกว่าลงมา เพื่อสร้างหลักประกันด้านสุขภาพและความมั่นคงในการทำงาน
- ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของพนักงาน และเพิ่มความพึงพอใจในการทำงาน
โดยผลการสำรวจความพึงพอใจของพนักงานที่มีต่อองค์กร พบว่าพนักงานส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อองค์กรในภาพรวม ซึ่งมีคะแนนอยู่ในระดับร้อยละ 75.20 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ในระดับที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85
ทั้งนี้ บริษัทฯ จะดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารทรัพยากรบุคคล เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน
ตารางแสดงข้อมูลเกี่ยวกับพนักงาน
ลำดับ | ข้อมูลในการพิจารณา | 2566 | รวม | 2567 | รวม | ||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ชาย | หญิง | ไม่ระบุ | ชาย | หญิง | ไม่ระบุ | ||||
1 | จำนวนพนักงานทั้งหมด (คน) | 350 | 254 | - | 604 | 346 | 259 | - | 605 |
2 | จำนวนพนักงานใหม่ (คน) | 28 | 20 | - | 48 | 43 | 42 | - | 85 |
3 | จำนวนพนักงานที่ลาออก (คน) | 37 | 26 | - | 63 | 38 | 37 | - | 75 |
4 | อัตราการลาออก (ร้อยละ) | 10.57 | 10.24 | - | 10.43 | 10.98 | 14.29 | - | 12.40 |
5 | จำนวนพนักงานที่เป็นผู้พิการ (คน) | 3 | 7 | - | 10 | 4 | 2 | - | 6 |
หมายเหตุ:
บริษัทฯ มีการรับผู้พิการเข้าทำงานมากกว่าอัตราส่วนระหว่างคนปกติกับคนพิการที่ 1 ต่อ 100 คน ตามที่กฎหมายกำหนด
การสร้างวัฒนธรรมองค์กร
บริษัทฯ ยึดมั่นในค่านิยมหลักขององค์กรที่สะท้อนถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงความคล่องตัว วินัย ความสามัคคี นวัตกรรม ความปลอดภัย และความใส่ใจสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “ADVISE”
การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการวัฒนธรรมองค์กรอย่างเป็นระบบโดยเน้นการมีส่วนร่วมของพนักงาน ภาวะผู้นำที่ดี และการใช้เทคโนโลยีสนับสนุน จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันขององค์กรในระยะยาว ในปี 2567 บริษัทฯ มีผลการดำเนินงาน ซึ่งสรุปได้พอสังเขป ดังนี้
2567 | เป้าหมาย 2570 | |
---|---|---|
สัดส่วนความครอบคลุมในการสร้างการรับรู้ค่านิยมองค์กร (ADVISE) ของพนักงาน หน่วย: ร้อยละ | 100 | 100 |
หมายเหตุ:
การสร้างการรับรู้ค่านิยมภายในองค์กร บริษัทฯ จะดำเนินการผ่านช่องทางการสื่อสารภายในองค์กรทั้งในระบบออฟไลน์และออนไลน์ โดยเฉพาะงาน Town Hall ที่จัดเป็นประจำทุกปี
นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนยังสะท้อนถึงความสำเร็จขององค์กรในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานและการพัฒนาสังคมโดยรวม
อาชีวอนามัยและความปลอดภัย
บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานภายใต้มาตรฐาน ISO45001:2018 เพื่อมุ่งสู่ "องค์กรปลอดอุบัติเหตุ (Zero Accident Organization)" โดยครอบคลุมพนักงาน ผู้รับเหมา ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ
ผลการดำเนินงาน
ปี 2567 บริษัทฯ มีการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ต่างๆ ดังนี้
- จัดทำอบรมความรู้เรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้ระดับพนักงานและผู้รับเหมาร้อยละ 100
- จัดกิจกรรมรณรงค์ Safety Talk ประจำปี ให้ระดับพนักงานร้อยละ 100
- กิจกรรมตรวจสอบอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในพื้นที่โรงงานกับสำนักงานร้อยละ 100
- Near Miss Activity ให้พนักงานเขียนอย่างน้อย 3 เรื่องต่อคนต่อปี
- จัดกิจกรรมซ้อมแผนฉุกเฉินระดับจังหวัด ปีละ 1 ครั้ง
- กิจกรรมสุ่มตรวจการทำงานของพนักงานให้สอดคล้องกับ WI ในพื้นที่โรงงานครบร้อยละ 100
- จัดทำการสื่อสารและรณรงค์เรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัย แบบรายเดือน
- กิจกรรมสุ่มตรวจการทำงานของผู้รับเหมาให้สอดคล้องกับ WI ในพื้นที่โรงงานครบร้อยละ 100
- ประเมินความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของผู้รับเหมา เพื่อใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างในรอบปีถัดไป
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้รับรางวัลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ได้แก่
- รางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ระดับ เพชร ปีที่ 8
- รางวัลกิจกรรมรณรงค์สถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ระดับทองแดง
อัตราความถี่ของการบาดเจ็บถึงขั้นหยุดงาน (LTIFR) ของพนักงานมีค่าเท่ากับ 2.38 ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือศูนย์ หรือ การเป็นองค์กร Zero Accident แต่เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรักษาเป้าหมายเอาไว้ได้ในปีถัดไป บริษัทฯ จะกำหนดการดำเนินการแก้ไขที่ขั้นตอนจากลำดับขั้นการควบคุม (Hierarchy of controls) รวมถึงการควบคุมทางวิศวกรรม (Engineering Control) เช่น การออกแบบ Safety Guard ที่เหมาะสม การทบทวนเอกสารการประเมินความเสี่ยง การจัดทำ OJT (On Job Training) ควบคู่ไปกับการทำการระบุอันตราย JSA (Job Safety Analysis) และการกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) เป็นต้น มาตรการดังกล่าวจะถูกใช้เป็นแนวทางในการทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงาน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังพิจารณาระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับรุนแรงมาก (Major) ระดับรุนแรง (Serious) ระดับรุนแรงปานกลาง (Moderate) และระดับรุนแรงน้อย (Minor) ซึ่งในปี 2567 ไม่มีจำนวนอุบัติการณ์ระดับรุนแรงมาก
ทั้งนี้ จากการดำเนินงานตามมาตรการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของบริษัทฯ ทำให้ LTIFR และ TRIR ซึ่งเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยของพนักงานและผู้รับเหมามีแนวโน้มคงที่ คือมีค่าเท่ากับ 2.38
กิจกรรมเพื่อสังคมและการมีส่วนร่วมของชุมชน
บริษัทฯ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาความยั่งยืนระดับองค์กร โดยให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน และดำเนินกิจกรรมเพื่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) และ มาตรฐาน GRI ซึ่งใช้เป็นแนวทางหลักในการบริหารจัดการความยั่งยืนขององค์กร บริษัทฯ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนภายใต้ 6 แนวคิดหลัก ดังนี้
แนวคิด | เป้าหมาย |
---|---|
PSP Sharing | สนับสนุนกิจกรรมบริจาคเพื่อสังคม |
PSP Better Life | พัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน |
PSP Give Health | สนับสนุนด้านสุขภาพ |
PSP Green Life | อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม |
PSP Safety Matter | ส่งเสริมความปลอดภัยในชุมชน |
PSP Collab | พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน |
ภายใต้งบประมาณรวมทั้งปีเป็นจำนวนเงินกว่า 5,059,801 บาท
สามารถดูกิจกรรมเพื่อสังคมและการมีส่วนร่วมของชุมชนได้ที่นี่
ช่องทางการรับข้อร้องเรียนจากชุมชน
ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ โทร. 089 200 1269, อีเมล wanida@psp.co.th