PSP Specialties จับมือนักวิจัย ENTEC ส่ง ‘น้ำมันหม้อแปลงจากน้ำมันปาล์ม’ เป็นนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้ปาล์มน้ำมันไทย ดันเศรษฐกิจชีวภาพให้โตได้ต่อเนื่อง | P.S.P. Specialties

PSP Specialties จับมือนักวิจัย ENTEC ส่ง ‘น้ำมันหม้อแปลงจากน้ำมันปาล์ม’ เป็นนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้ปาล์มน้ำมันไทย ดันเศรษฐกิจชีวภาพให้โตได้ต่อเนื่อง

ปาล์มน้ำมัน นับเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจของไทย ที่นอกจากจะใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำมันเพื่อใช้ปรุงอาหารแล้ว ยังเป็นพืชแห่งอนาคตที่มีมูลค่ามหาศาลที่สามารถนำไปใช้ผลิต “พลังงานสะอาด” หรือ ไบโอดีเซล (Biodiesel) เชื้อเพลิงทางเลือกที่ได้อีกด้วย เพราะเป็นที่รับรู้กันว่าปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่มีศักยภาพในการผลิตน้ำมันต่อพื้นที่สูงสุดและใช้ต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับพืชผลิตน้ำมันชนิดอื่น

ที่ผ่านมา ทางภาครัฐจึงส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลซึ่งเป็นการสร้างทางเลือกให้กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ช่วยพยุงราคาปาล์มน้ำมัน แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มีการวางแผนนำ “ปาล์มน้ำมัน” มาใช้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน นักวิจัยไทยจึงได้พยายามศึกษาเพื่อหาความต้องการที่มีมูลค่าสูงกว่าการแปรรูปเป็นน้ำมันบริโภคหรือน้ำมันไบโอดีเซลในปัจจุบัน จนกระทั่งเกิดข่าวดีว่ามีการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ คือ การใช้ปาล์มน้ำมัน มาผลิต ‘น้ำมันหม้อแปลงจากน้ำมันปาล์ม’ นั่นเอง

โดยโครงการวิจัยนี้นอกจากจะมี ดร.บุญญาวัณย์ อยู่สุข หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีเชื้อเพลิง ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มาเป็นหัวหน้าโครงการฯนี้แล้ว ยังได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมทุนในหลายภาคส่วน ที่ล้วนเป็นองค์กรหลักที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า ตั้งแต่ผู้ที่มีศักยภาพในการผลิตและจำหน่ายน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ ผู้ใช้งานหลักของหม้อแปลงไฟฟ้าของประเทศอย่างการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมทั้งหน่วยงานจัดทำมาตรฐานสินค้าของประเทศ

ทั้งนี้ โครงการวิจัยฯนี้ ได้เปิดโอกาสให้ทุกหน่วยงาน ได้มาบูรณาการความร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนผลงานวิจัยและผลักดันให้เกิดการใช้งานผลิตภัณฑ์ น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพจากน้ำมันปาล์มเชิงพาณิชย์ อย่างแพร่หลายภายในประเทศไทย

หนึ่งในความร่วมมือสำคัญที่เป็นอีกหนึ่ง Key success ของโครงการวิจัย “การพัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยากจากน้ำมันปาล์ม และนำร่องการทดสอบภาคสนามเชิงบูรณาการ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน” คือ บริษัท พี.เอส.พี. สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) (PSP Specialties PCL) ตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆมานานกว่า 30 ปี อาทิ น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า น้ำมันผสมยาง จาระบี ฯลฯ โดยเป็นบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นผู้แทนจำหน่าย น้ำมันหม้อแปลงหลักในประเทศไทย

ในวันนี้ ผู้บริหารของ PSP Specialties PCL ได้มาเปิดเผยมุมมองที่น่าสนใจและเป็นต้นแบบของผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับงาน Research & Development หรือ การวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์พลังงานที่มาจากแหล่งพลังงานทางเลือกและส่งให้ประเทศไทยเป็นผู้นำเทคโนโลยีการผลิตนวัตกรรมพลังงานนี้ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันหม้อแปลงจากต่างประเทศอย่างได้ผล


ความสำคัญของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ปาล์มน้ำมันไทย เป็นผลิตภัณฑ์ น้ำมันหม้อแปลงจากน้ำมันปาล์ม

ก่อนจะไปฟังมุมมองน่าสนใจจากผู้บริหารของ PSP Specialties ขอชวนมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ปาล์มน้ำมันไทย เป็นผลิตภัณฑ์ ‘น้ำมันหม้อแปลงจากน้ำมันปาล์ม’ มีความจำเป็น และสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทยได้อย่างไรบ้าง

หากอ้างอิงจากเอกสารข้อมูลโครงการวิจัย “การพัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยากจากน้ำมันปาล์ม และนำร่องการทดสอบภาคสนามเชิงบูรณาการ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน” ได้อธิบายไว้ชัดเจนว่า

“น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่น้ำมันปาล์มของไทยได้อย่างมาก โดยทำให้น้ำมันปาล์มมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 565 % ซึ่งมากกว่าน้ำมันบริโภคและน้ำมันไบโอดีเซล ที่มีมูลค่าเพิ่มเพียง 67% และ 23% ตามลำดับ ทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลปาล์มน้ำมันและยกระดับการผลิตจากผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคขั้นต้นไปสู่ผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีมูลค่าสูงด้วย”

ทั้งนี้ ตามมติของคณะทำงานขับเคลื่อนมูลค่าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม “น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ” เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่รัฐบาลจะมีนโยบายผลักดันให้เกิดการใช้งานอย่างกว้างขวางในประเทศ และเป็นหนึ่งในมาตรการการส่งเสริมโอเลโอเคมีจากปาล์มน้ำมันตามยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ปี พ.ศ. 2560 – 2579

ดังนั้น ถ้ามีการเปลี่ยนน้ำมันหม้อแปลงทั้งหมดที่ใช้อยู่ภายในประเทศไทยเป็นน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพจากน้ำมันปาล์มย่อมช่วยบรรเทาภาวะน้ำมันปาล์มลันตลาดลงได้ประมาณ 33 ล้านลิตรต่อปี โดยมีการประเมินมูลค่าผลกระทบเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี

แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่ทีมวิจัยได้หารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานน้ำมันหม้อแปลงพบว่าการยอมรับจากผู้ใช้งานเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก โครงการวิจัยนี้จึงมีจุดมุ่งหมายนำร่องผลิตน้ำมันพัฒนาจากน้ำมันปาล์มด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นภายในประเทศ และทดสอบการใช้งานจริงภาคสนามในหม้อแปลงไฟฟ้า โดยประสานความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนในวงกว้าง เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผลิตภัณฑ์น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพจากปาล์มน้ำมันและร่วมกันผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน


PSP Specialties ต่อยอดประสบการณ์ 30 ปี บนเส้นทาง R&D พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ Bio-Transformer Oil มาตรฐานโลก ที่เป็นสูตรเฉพาะของตนเอง

ดังที่ได้เกริ่นแล้วว่าหนึ่งภาคส่วนที่เป็นกำลังสำคัญในโครงการวิจัยฯนี้ นั่นคือภาคเอกชนอย่าง บริษัท พี.เอส.พี. สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ P.S.P. Specialties Public Company Limited (PCL) ที่นอกจากจะมีประสบการณ์ในวงการอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศไทยมากว่า 30 ปีแล้ว ยังเป็นต้นแบบของบริษัทสัญชาติไทยที่ให้ความสำคัญกับงานด้านการวิจัยและพัฒนา ที่มีการจัดตั้งฝ่าย Research and Development หรือ R&D ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ด้วยแนวคิดของทางซีอีโอและพาร์ทเนอร์ที่ชัดเจนว่าต้องการผลิต ผลิตภัณฑ์พลังงาน ด้วยวัตถุดิบในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศนั่นเอง

คุณสินธุ์ ครองพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พี.เอส.พี. สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน)

คุณสินธุ์ ครองพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พี.เอส.พี. สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) ได้บอกเล่าถึงการก่อร่างสร้างธุรกิจของ PSP Specialties PCL โดยสังเขปว่า

“ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ไอเดียในการเริ่มทำธุรกิจนี้เริ่มมาจากตัวผมและพาร์ทเนอร์ (ดร.ปวเรศ บุญตานนท์ กรรมการบริษัทฯ) ที่มีประสบการณ์การทำงานที่ทำอยู่ด้วยกันที่บริษัทผู้ผลิตน้ำมันระดับโลก บวกกับมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจการผลิตน้ำมันหล่อลื่นในไทย จึงมาสานต่อเพื่อสร้างธุรกิจของตนเอง และตอนนั้นก็มีลู่ทางที่ไปได้ในส่วนของการทำน้ำมันหม้อแปลง คือ เราสามารถนำเข้าและขายในอุตสาหกรรมหม้อแปลงของไทยได้ นี่ก็เป็นธุรกิจเริ่มแรกที่ทำมาตลอด และเรามีความตั้งใจที่จะต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานต่อไป รวมถึงเรามีความตั้งใจที่จะพัฒนาและเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ ทั้งน้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันหม้อแปลงของ PSP เอง เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า”

“เพราะเรามีแนวคิดตั้งแต่ช่วงเริ่มทำธุรกิจมาได้ระยะหนึ่งว่าการที่จะเป็น Trader คือนำเข้ามา แล้วขายเป็นผลิตภัณฑ์ไม่สามารถสร้าง Value added หรือมูลค่าเพิ่มอะไรมากนัก ที่สุดแล้วเราต้องเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและเป็นผู้ผลิตจะดีกว่า เพราะการที่จะเอาผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากต่างประเทศมาจำหน่ายเรื่อยไป คงจะเป็นการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนไม่ได้ จากในช่วงแรกที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ก็ค่อยๆนำเข้ามาผ่านกระบวนที่เป็นกระบวนการที่คิดค้นและสร้างมาตรฐานขึ้นเอง ซึ่งต้องนำเข้าสู่กระบวนการวิจัยและพัฒนา เพื่อที่จะยกระดับตัวเราเองให้เป็นผู้ผลิตให้ได้”

“ต้องยอมรับว่าในอดีต ในการพัฒนาการผลิตของทางภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐไม่ได้เข้ามาให้การส่งเสริมหรือสนับสนุนมากเท่าที่ควร ส่วนใหญ่เป็นการที่ภาคอุตสาหกรรมช่วยตัวเองมากกว่า ยกตัวอย่าง ทาง PSP ก็จะมีฝ่าย R&D ที่ติดต่อกับทางต่างประเทศว่าต้องการความรู้เพิ่มเติมในด้านใดบ้าง และมาช่วยเหลือทางธุรกิจของเราในด้านใดได้บ้าง เพื่อมาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ร่วมกัน และเป็นที่น่ายินดีว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เราได้มีโอกาสทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกับทางนักวิจัยจากหน่วยงานภาครัฐก็ถือเป็นกำลังเสริม สร้างประสิทธิภาพให้กับงานวิจัยและพัฒนาของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“และย้อนไปเมื่อช่วงเริ่มก่อตั้งบริษัท เรายังไม่ได้คิดถึงการตั้งฝ่าย R&D เพราะมองว่าต้องใช้เงินทุนในการจัดตั้ง และในตอนก่อตั้งบริษัทใหม่ๆ เราก็มีบุคลากรที่ยังน้อยอยู่ ประกอบกับในตอนนั้น บริษัทกำลังตั้งไข่ก็ต้องมีรายได้มาหล่อเลี้ยงในการดำเนินธุรกิจก่อน จึงเน้นทุ่มสรรพกำลังไปขับเคลื่อนธุรกิจมากกว่า”

“แต่เมื่อบริษัทโตขึ้นมาเรื่อยๆ มีเงินทุนและศักยภาพมากพอ ก็คิดว่าการทำ R&D เป็นเรื่องจำเป็น เพราะบริษัทในประเทศไทยบางส่วน ยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของ R&D ส่วนใหญ่จะขายสินค้าเท่าที่มี หรือนำเข้ามาขาย แต่สำหรับ PSP เรามองว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ด้วยฝ่าย R&D มีความจำเป็นกับธุรกิจเรา จึงได้ก่อตั้งฝ่าย R&D ขึ้นเมื่อ 15 ปี ที่ผ่านมา”

“และในภาคอุตสาหกรรมที่ทำอยู่ มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีฝ่าย R&D ที่เข้มแข็ง ไม่เช่นนั้น เราจะไม่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นของตัวเราเองเลย ซึ่งการที่บริษัทจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ต้องพัฒนามาจากภายในองค์กร เพราะการรับผลิตภัณฑ์มาขาย ย่อมไม่มีความยั่งยืน และการท้าทายตัวเองด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จะทำให้เรารู้ศักยภาพของตัวเองว่าเราจะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์จนสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่อีกด้วย”

“ทั้งนี้ ในแต่ละปี เรามีการวางแผนล่วงหน้าว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใดไปในทิศทางไหน โดยมีการทำงานร่วมกับฝ่ายขาย ว่าในปีนี้ทางฝ่ายขายมองว่าตลาดเป็นอย่างไร เราสามารถพัฒนาอะไรขึ้นมาได้บ้าง ยกตัวอย่าง ในยุคนี้มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Bio Oil มีการพัฒนาไปอย่างไรและการที่จะลงทุนและพัฒนาในด้านนี้อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ด้านการทำธุรกิจ สร้างรายได้มากมาย แต่การลงทุนตรงนี้ต้องทำขึ้นเพื่อตอบสนองเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ที่ต้องเปลี่ยนจาก Fossil fuel ไป Bio Oil ในอนาคต”

คุณเสกสรร ครองพาณิชย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พี.เอส.พี. สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน)

ด้าน คุณเสกสรร ครองพาณิชย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พี.เอส.พี. สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวเสริมถึงอีกหนึ่งแนวทางที่ PSP ให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ นั่นคือ การไม่หยุดพัฒนา “คน” ซึ่งประกอบสร้างให้ธุรกิจของ PSP มีความแข็งแกร่งมาอย่างยาวนานถึง 3 ทศวรรษ ในวันนี้

“ในส่วนของการปรับตัวและการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น มองว่า ในยุคนี้บุคลากรทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงพนักงานทุกฝ่าย ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ พัฒนาทักษะที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ มิเช่นนั้น ถ้าเราหยุดนิ่ง ย่อมตามความเปลี่ยนแปลงไม่ทัน ก็จะเสียโอกาสดีๆในการพัฒนาศักยภาพตนเองไป”

“และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ทุกองค์กร จำเป็นต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือ เรื่องของคน หรือทีมงานของเรา อย่างบริษัทที่ดำเนินกิจการมาหลายปี จะเห็นว่ามีหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จที่เหมือนกัน นั่นคือ การไม่หยุดพัฒนาทรัพยากรคน ให้ตอบโจทย์กับโลกอุตสาหกรรมสมัยใหม่ PSP จึงตระหนักและให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของคนทำงานตลอดเวลา เพื่อให้พวกเขาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนทั้งองค์กรและภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่อไป

“โดยแน่นอนว่า การพัฒนาบุคลากร จำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในองค์กรตลอดเวลา เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ไม่ใช่แค่ในการทำธุรกิจ แต่ตอบสนองทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมและการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”


R&D เครื่องมือสำคัญช่วยลดความเสี่ยง ขับเคลื่อนธุรกิจบนความไม่ประมาท

คุณสินธุ์ได้กล่าวเพิ่มเติม ถึงจุดเริ่มต้นและเหตุผลที่ทุกธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมควรให้ความสำคัญกับงาน R&D ว่า

“ในอุตสาหกรรมของ PSP จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในการผลิตมาจากต่างประเทศ แต่จากประสบการณ์ที่ PSP ทำธุรกิจนี้มา 30 ปี จนเป็นผู้ผลิตน้ำมันหม้อแปลงรายใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ทำให้ได้สั่งสมความรู้ด้วยตัวเองในระดับหนึ่ง จากนั้นจึงมองต่อไปว่าทำอย่างไรจึงจะลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพราะการพึ่งพา หมายถึง การต้องรอ ตราบใดที่ไม่มีการคิดค้นอะไรใหม่ๆ จากต่างประเทศเราก็ต้องรอต่อไป นี่เป็นหนึ่งเหตุผลหลักที่ทางผู้บริหารตัดสินใจตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราจะต้องสร้างและพัฒนาเทคโนโลยี องค์ความรู้ในการผลิตได้ด้วยตัวเอง”

“ต้องยอมรับว่า บริษัท PSP เป็นบริษัทไทยก็จริง แต่วิธีคิดในการทำธุรกิจมีความเหมือนบริษัทต่างชาติ เพราะผมและ ดร.ปวเรศ (พาร์ทเนอร์) มีประสบการณ์ทำงานในบริษัทต่างชาติมาก่อน ดังนั้น วิธีคิด และการดำเนินธุรกิจ จึงให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา โดยมองว่าบริษัทเราจะยั่งยืนได้จะต้องไม่ใช่ผู้ใช้เทคโนโลยีอย่างเดียวแต่ต้องเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเอง จะได้ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นได้เองแบบไม่ต้องรอใคร นี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เราคิดและวางแผนในเรื่องของงานวิจัยและพัฒนาไว้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และเริ่มค่อยๆ ลงทุนและพัฒนาให้การทำงานด้านนี้เป็นรูปธรรมขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้”

“ในการดำเนินงานของบริษัทเราจะมีการวางแผนธุรกิจอย่างน้อยในทุก 5 ปีอยู่แล้ว ว่าในอนาคตมีความต้องการอะไรที่จะเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งเมื่อได้คำตอบแล้ว ข้อมูลนี้ก็จะกลับมายังคนทำ R&D ว่าเราต้องเตรียมอะไรไว้บ้าง ยกตัวอย่าง การที่สินค้าบางตัวปรับราคาแพงขึ้น เพราะวัตถุดิบที่ใช้ผลิตขึ้นราคาแพงขึ้น เนื่องจากสถานการณ์หรือวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก พอเราเห็นเช่นนี้ ก็รู้แล้วว่าถ้ายังยึดติดกับวัตถุดิบตัวนี้ในอนาคตจะลำบากแน่ๆ เพราะฉะนั้น ต้องรีบหาทางว่าทำอย่างไรถึงจะมีตัวเลือกเพิ่มเติมที่จะมาตอบสนองสภาวะการขาดแคลนวัตถุดิบนี้ ดังนั้น การมองไปข้างหน้า เพื่อคาดการณ์ว่าปัญหาอะไรที่จะเกิดขึ้น แล้วทำการวิจัยและพัฒนาปูทางเอาไว้ ย่อมเป็นสิ่งที่ควรทำ ซึ่งจะทำให้เรามีตัวเลือกไว้รอรับมือกับปัญหาที่จะเกิดนั่นเอง”

“อย่างการทำวิจัยและพัฒนาในเรื่องของ “น้ำมันหม้อแปลงจากน้ำมันปาล์ม” ที่ร่วมมือกับ นักวิจัยจาก ENTEC หรือ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดเป็นการทำวิจัยและพัฒนาที่ไม่ได้มองในมิติของการทำธุรกิจหรือการหากำไรอย่างเดียว แต่เรามองทั้งในเรื่องของซัพพลาย ที่เราสามารถหาได้เองในประเทศ รวมถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม หรือแนวคิด BCG ซึ่งบริษัทต่างๆจะต้องปรับเอามาใช้ เพื่อผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานและได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ”

“นอกจากนั้นยังเป็นการแก้ปัญหาเรื่องของวัตถุดิบที่จะขาดแคลนในอนาคต อย่างในปัจจุบัน มีวัตถุดิบหลายตัว ที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องแพงหรือถูก เพราะต่อให้มีเงินมากก็ไม่ใช่ว่าจะซื้อมากกว่านี้ได้ เนื่องจากซัพพลายมีปัญหา โดยต่างประเทศที่เป็นต้นทางมีซัพพลายให้แค่นี้ อย่างถ้าพูดถึง ปาล์ม เมื่อมีดีมานด์เยอะ คนก็ปลูกปาล์มมาก ขณะที่น้ำมันดิบทำไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับ กลุ่มโอเปค รัสเซีย หรือชาติอย่าง สหรัฐอเมริกา เมื่อเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เราก็จะตกอยู่ในฐานะผู้ใช้ที่ต้องรอ ดังนั้นถ้าเราไม่เตรียมวัตถุดิบทางเลือกที่สามารถผลิตในประเทศอย่างปาล์มน้ำมัน และพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์พลังงานทางเลือกอย่าง น้ำมันหม้อแปลงจากน้ำมันปาล์ม ย่อมเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง”


วิจัยและพัฒนาร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. คืออีกหนึ่ง Key success ของการคิดค้นนวัตกรรมพลังงานทางเลือกใหม่ของคนไทย

และจากขั้นตอนการศึกษา วิจัย และพัฒนา ที่ไม่หยุดยั้งของ PSP Specialties นี่เอง ที่ทำให้เกิดแผนการต่อยอดปาล์มน้ำมันเพื่อนำมาผลิต น้ำมันหม้อแปลงจากน้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์ตามเทรนด์ Bio Oil หรือ Bio Product ที่กำลังมาแรง โดย ดร.พงษ์ชาติ บูรณะประเสริฐสุข ผู้จัดการส่วนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท พี.เอส.พี. สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า

“ในต่างประเทศตอนนี้มีการให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก และมี Regulation ออกมาชัดเจนว่าน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า จะมีการควบคุมสารเคมีบางตัวที่อยู่ในน้ำมัน ทำให้ฐานของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตน้ำมันหม้อแปลงนั้น ต้องเกี่ยวข้องกับ Biofuel มากขึ้น เมื่อมีสัญญาณเช่นนี้เกิดขึ้น ทางฝ่าย R&D ของ PSP ก็มองว่าเมื่อในต่างประเทศเกิดความสนใจในเรื่องนี้เกิดขึ้นแล้ว อีกไม่ช้าไม่นาน ก็ย่อมส่งผลกลับมาที่บ้านเราแน่ๆ และถ้าเรายังนิ่งนอนใจ ไม่ทำอะไรเลย เราย่อมไม่มีของอยู่ในกระเป๋าที่จะนำมาใช้รับมือเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงหรือกฎเกณฑ์ใหม่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมนี้”

ดร.พงษ์ชาติ บูรณะประเสริฐสุข ผู้จัดการส่วนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท พี.เอส.พี. สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน)

“อย่างในตอนนี้ เราทำน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าจากน้ำมันปาล์ม ราคาน้ำมันปาล์มในตอนนี้ก็แพงกว่าราคา Mineral Base มากๆ ดังนั้น การทำผลิตภัณฑ์น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าจากน้ำมันปาล์มไปในตอนนี้ หลายคนอาจมองว่าไม่มีทางที่จะคุ้มทุน คุ้มค่า แต่ถ้าเรามองต่อไปในอนาคต ที่วันหนึ่งมี Regulation หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับ Bio Oil ออกมา เราก็พร้อมมีผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาดได้ทันที”

ด้าน คุณสินธุ์ กล่าวเสริมว่า “ในปัจจุบัน เรื่องของ Bio Oil หรือ Bio Product มีประโยชน์มากมาย หลากหลายมิติ อย่าง แต่ก่อนเราไม่รู้ว่า น้ำมันปาล์มตัวเดียว สามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง แต่เมื่อเราได้ศึกษา ทำให้ช่วงหลังเราเริ่มหยิบเอาน้ำมันปาล์มไปเป็นวัตถุดิบหลักและต่อยอดทำน้ำมันหล่อลื่นได้หลากหลายชนิด นี่จึงเป็นที่มาให้เราสนใจทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกับนักวิจัยจาก ENTEC หรือ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ที่กำลังศึกษาวิจัยในเรื่องนี้อยู่เช่นกัน”

“และด้วยความลงตัวระหว่างองค์ความรู้ที่เรามีในเรื่องความต้องการของตลาด ส่วน ทีมอาจารย์นักวิจัยจาก ENTEC เองก็มีองค์ความรู้ในเรื่องของวัตถุดิบ การพัฒนาวัตถุดิบนั้นมาเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์มาแชร์ โดยการทำเช่นนี้นับเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์การนำงานวิจัยมาปรับใช้กับภาคอุตสาหกรรมได้จริง ทำให้งานวิจัยที่คิดค้นออกมาไม่อยู่บนหิ้ง และได้นำมาปรับใช้อย่างเกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจอย่างแท้จริง เพราะเป้าหมายของงานวิจัย คือ การวิจัยและนำมาใช้ประโยชน์ได้นั่นเอง”

“โดยการนำไปใช้ประโยชน์มีตั้งแต่ การนำไปผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ การนำไปพัฒนาต่อเพื่อลดการนำเข้า ตลอดจน เมื่อมีการนำวัตถุดิบนั้นไปใช้แล้ว ก็สามารถหาหนทาง Renewable ที่จะนำกลับมาผลิตและกลับมาใช้ใหม่ได้ เพราะวัตถุดิบอย่างน้ำมันปาล์มจัดว่าเป็น Bio ไม่ใช่น้ำมันดิบ ที่ใช้ไปแล้ววันหนึ่งจะมีวันหมด และน้ำมันกลุ่มนี้ ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถ้าเกิดรั่วไหล ซึมลงดิน ก็สามารถย่อยสลายได้ เพราะจัดเป็นน้ำมัน Biofuel นั่นเอง”

มาถึงตอนนี้ ดร.พงษ์ชาติ ได้แชร์ประสบการณ์การทำงานร่วมกับ หน่วยงานและนักวิจัยจากภาครัฐ ซึ่งเป็น Key success ที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถขับเคลื่อนให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่เป็นทางเลือกสร้างแต้มต่อให้กับธุรกิจได้จริง โดยสรุปใจความสำคัญได้ คือ

“ตั้งแต่ นักวิจัยจาก ENTEC ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ติดต่อเข้ามาทางบริษัท และนำเสนอว่าได้มีการทำวิจัยในเรื่องของ Biofuel มาอยู่แล้ว และมีการนัดพูดคุยเพื่อร่วมมือกัน คิดค้น ศึกษา พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ Biofuel ร่วมกัน จนกระทั่งเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ทางบริษัทนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจากการทำงานร่วมกันกับ ENTEC ก็ต้องชื่นชมว่า ทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพ และทำงานด้วยความเข้าใจภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชนอย่างแท้จริง จนตอนนี้ เรามีการพูดคุยถึงการวิจัยและพัฒนาในโปรเจกต์อื่นต่อไป ได้แก่ การทำวิจัยและพัฒนาน้ำมันผสมยางและจารบีที่เป็นฟู้ดเกรดที่ทางนักวิจัย ENTEC ก็มองว่าสามารถเอาน้ำมันปาล์มไปเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตได้เช่นกัน”


Salika’s says :

โครงการวิจัย “การพัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยากจากน้ำมันปาล์ม และนำร่องการทดสอบภาคสนามเชิงบูรณาการ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน” ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ปีงบประมาณ 2564 โดยมีจุดประสงค์เพื่อวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและวางรากฐานทางเศรษฐกิจ ตามแผนงานหลักด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG in Action) และแผนงานย่อยการพัฒนาพลังงานเคมีชีวภาพและพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ การวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy)

โดยในโครงการวิจัยฯนี้มีการวางผลสัมฤทธิ์สำคัญ คือ การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจาก เศรษฐกิจ BCG (การเกษตรและอาหาร การแพทย์สุขภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พลังงานและวัสดุชีวภาพ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ และมุ่งสู่การเติบโตของอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่ (New S-Curves) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี

โดยโครงการวิจัยนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมทุนในหลายภาคส่วน ที่ล้วนเป็นองค์กรหลักที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า ตั้งแต่ผู้ที่มีศักยภาพในผลิตและจำหน่ายน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ ผู้ผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้า ผู้ใช้งานหลักของหม้อแปลงไฟฟ้าของประเทศอย่างการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมทั้งหน่วยงานจัดทำมาตรฐานสินค้าของประเทศ จึงนับเป็นต้นแบบการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนผลงานวิจัยและผลักดันให้เกิดการใช้งานผลิตน้ำมันหม้อแปลงจากไฟฟ้าจากน้ำมันปาล์มในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแพร่หลายภายในประเทศของเรา และความร่ววมมือนี้จะส่งผลให้การดำเนินงานวิจัยเป็นไปได้อย่างครบวงจร มีแผนและผลการดำเนินงานที่ชัดเจน ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมีแนวทางการขับเคลื่อนผลการวิจัยให้นำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างครบวงจร

ที่มา: https://www.salika.co/2022/07/07/psp-specialties-bio-transformer-oil-from-palm-oil/